วันอังคารที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

ข่าวสารประจำสัปดาห์ที่ 3

พจนานุกรมภาษามือ ประโยชน์สำหรับคนพิการ

พจนานุกรมภาษามือ
เทคโนโลยีนับเป็นสิ่งสำคัญในการเพิ่มโอกาสให้กับผู้พิการ
ซึ่ง “โปรแกรมประดิษฐ์พจนานุกรมภาษามือช่วยสื่อสารคนพิการทางหู” ผลงานของนักศึกษาภาควิชาวิศวกรรมคอมพิว เตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (มอ.) วิทยาเขตภูเก็ต ก็เป็นอีกหนึ่งผลงานที่มีส่วนช่วยให้ผู้พิการทางการได้ยินให้สามารถติดต่อสื่อสารกับบุคคลทั่วไปได้
นายอัมรินทร์ ดีมะการ อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (มอ.) วิทยาเขตภูเก็ต บอกว่า โครงการระบบคอมพิวเตอร์ช่วยในการเรียนรู้ภาษามือไทยหรือพจนานุกรมมัลติมีเดียภาษามือ เพื่อช่วยในการเรียน/การสอนในชั้นเรียนของผู้พิการทางการได้ยินของภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ มอ. เขตการศึกษาภูเก็ต ที่พัฒนาโปรแกรมโดยนางสาวไพลิน พันธุ์ฉลาด และ นางสาวบุษรา สกุลสุจิราภา ได้รับรางวัลรองชนะเลิศระดับนิสิต/นักศึกษา ในโครงการแข่งขันพัฒนาโปรแกรมคอม พิวเตอร์แห่งประเทศไทย (National Software Contest : NSC) ของศูนย์เทคโนโลยีอิเล็ก ทรอนิกส์และคอม พิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) ซึ่งการแข่งขันในระดับนี้ไม่ มีนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยใดได้รับรางวัลชนะเลิศ
โปรแกรมดัง กล่าวจะช่วยผู้พิการ ทางการได้ยินให้ สามารถติดต่อสื่อสารกับบุคคลทั่วไปได้ ซึ่งจะเป็นการเพิ่มโอกาสทางการศึกษาให้กับผู้พิการทางหูและช่วยลดช่องว่างทางสังคม มีการพัฒนาให้สามารถใช้งานผ่านทางอินเทอร์เน็ตและมือถือ รวมไปถึงคอมพิวเตอร์ทั่วไป
โดยโปรแกรมคอมพิวเตอร์จะแปล ข้อความภาษาไทยเป็นภาษามือ ช่วยสื่อการสอนภาษามือไทยสำหรับชาวต่างชาติได้อีกทางหนึ่ง นอกจากนี้ ในระบบยังมีการสร้างท่าทางภาษามือไทยแบบสามมิติ และมีเกมสำหรับการเรียนรู้ภาษามือไทย
ทั้งนี้ทางภาควิชาฯ จะมีการปรับปรุงและพัฒนาโปรแกรมให้เป็นพจนานุกรมภาษามือที่ครอบคลุมการสื่อสารสำหรับผู้พิการ ทางการได้ยินให้มากที่สุด ซึ่งปัจจุบันทางภาควิชามีการพัฒนาต่อเนื่องตลอดเวลา โดยเพิ่มข้อมูลในรูปแบบอื่น ๆ อาทิ ระบบเรียนรู้ไวยากรณ์ภาษามือไทยเบื้องต้น ระบบแบบฝึกหัดภาษามือไทยรวมไปถึง คำศัพท์ต่าง ๆ ให้มากขึ้น
ด้านนางสาวไพลิน พันธุ์ฉลาด นักศึกษาชั้นปีที่ 4 ภาควิชาวิศวกรรมคอม พิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มอ. กล่าวว่า ก่อนที่จะมีการพัฒนาโปรแกรมขึ้นมานั้น ได้เข้า ไปศึกษาข้อมูลที่โรงเรียนภูเก็ตปัญญานุกูล จ.ภูเก็ต ซึ่งเป็นโรงเรียนสอนผู้พิการทางการได้ยิน พบว่าสื่อที่ใช้สอนสำหรับผู้ที่มีความ บกพร่องด้านนี้มีหลายสื่อ แต่ยังไม่มีสื่อที่ สามารถออนไลน์ได้ทางอินเทอร์เน็ตและมือถือ เลยคิดพัฒนาโปรแกรมนี้ขึ้น เพื่อเพิ่มโอกาสทางการศึกษาให้คนหูหนวกได้มีโอกาสเรียนเพิ่มขึ้นในอีกหนึ่งช่องทาง โดยคนปกติก็สามารถเรียนได้ เพื่อที่จะได้สื่อสารกับคนหูหนวกได้อย่างรู้เรื่อง โดยโปรแกรมแบ่งคำศัพท์ออกเป็นหมวดหมู่อย่างชัดเจน อาทิ พืช ผัก อาหาร การแต่งกาย สถานที่ จังหวัด ฯลฯ
สำหรับจุดเด่นของโปรแกรมเมื่อคีย์คำศัพท์ลงไปและค้นหาข้อมูลแล้ว จะปรากฏ ออกเป็นทั้งภาพนิ่ง ไฟล์วิดีโอภาพเคลื่อนไหวภาษามือ และเป็นไฟล์เสียงออกมาด้วย ซึ่งสามารถใช้ได้ทั้งคนปกติและคนหูหนวก ในอนาคตจะพัฒนาโปรแกรมโดยการเพิ่มคำศัพท์ให้มากขึ้น จากที่มีอยู่เดิมประมาณ 700 คำ โดยในจำนวนนี้มีคำศัพท์ที่สมบูรณ์แบบ ซึ่งจะประมวลผลคำศัพท์ออกมามีทั้งภาพนิ่ง ภาพเคลื่อนไหว คำบรรยายภาษาไทยและภาษาอังกฤษ จำนวนทั้งสิ้น 500 คำ ส่วนที่เหลืออีก 200 คำจะพัฒนาให้สมบูรณ์มากขึ้น นอกจากนี้จะเพิ่มแบบฝึกหัดในการเรียน รวมทั้งเพิ่มหลักการในการคำนวณทางคณิตศาสตร์เข้าไปด้วย
อย่างไรก็ดี ขณะนี้ทางภาควิชาได้เปิดให้โรงเรียนที่สนใจนำโปรแกรมดังกล่าวไปทดลองใช้แล้ว โดยติดต่อได้ที่ ภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ วิทยาเขตภูเก็ต มอ. โทร. 0-7627-6000 หรือ 08-1696-8415.
แหล่งที่มาข้อมูล : http://www.dailynews.co.th/web/html/popup_news/Default.aspx?Newsid=165244&NewsType=1&Template=1

วันจันทร์ที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

ข่าวสารประจำสัปดาห์ที่ 2

มอ.ปัตตานีทำพจนานุกรมมลายูท้องถิ่น-ไทย สนองยุทธศาสตร์แก้ไฟใต้

โครงการจัดตั้งสถาบันสมุทรรัฐเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มอ.ปัตตานี ระดมนักภาษาศาสตร์ จัดทำพจนานุกรมภาษามลายูท้องถิ่น-ไทย เสริมสร้างความเข้าใจ เรียนรู้ความหลากหลายทางวัฒนธรรม สนองยุทธศาสตร์แก้ปัญหาความไม่สงบชายแดนใต้ ด้วยแนวทางสันติวิธี
ผศ.ดร.วรวิทย์ บารู ผู้อำนวยการ โครงการจัดตั้งสถาบันสมุทรรัฐเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี(มอ.ปัตตานี)เปิดเผยว่า ขณะนี้คณะนักวิจัยจากโครงการจัดตั้งสถาบันสมุทรรัฐเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา ได้ร่วมกันจัดทำโครงการพจนานุกรมภาษามลายูถิ่นปัตตานี-ไทย ซึ่งได้รับงบประมาณสนับสนุนจากมูลนิธิเอเชีย ทั้งนี้พจนานุกรมดังกล่าว ถือเป็นส่วนหนึ่งในยุทธศาสตร์การแก้ปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ในส่วนของความหลากหลายทางวัฒนธรรม โดยจะแล้วเสร็จปลายเดือนสิงหาคมนี้
“ภาษาเป็นเครื่องมือที่มนุษย์ใช้ในการติดต่อสื่อสาร และเปลี่ยนความรู้ ความคิดและทัศนะต่อกัน ตลอดจนสืบทอดวัฒนธรรม ทำให้มนุษย์สามารถสื่อสารเข้าใจตรงกัน” ผศ.ดร.วรวิทย์ กล่าว
ผู้อำนวยการโครงการจัดตั้งสถาบันสมุทรรัฐฯ มอ.ปัตตานีกล่าวต่อไปอีกว่า จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเฉพาะในจังหวัดปัตตานี ยะลา และนราธิวาส ประชาชนส่วนใหญ่พูดภาษามลายูถิ่น หรือเรียกว่า “มลายูถิ่นปัตตานี” ซึ่งมีลักษณะแตกต่างจากภาษามลายูมาตรฐานที่ใช้กันอยู่ในประเทศมาเลเซีย ภาษามลายูถิ่นเป็นกลุ่มภาษาที่มีศัพท์ สำเนียง และคำยืมมาจากหลายภาษา นอกจากนี้ภาษามลายูถิ่นยังสะท้อนให้เห็นถึงวัฒนธรรม ความเป็นอยู่และวิถีชีวิตของชาวไทยมุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของประเทศไทย ซึ่งมีความเป็นเอกลักษณ์ ทั้งนี้เคยมีนักวิชาการท้องถิ่นและผู้สนใจในภาษามลายูถิ่นทั้งชาวไทยมุสลิมในท้องถิ่นและชาวต่างประเทศได้พยายามจัดทำพจนานุกรม แต่มักจะอยู่ในลักษณะของประมวลคำศัพท์ภาษามลายูถิ่นปัตตานีมากกว่าจะเป็นพจนานุกรมที่มีมาตรฐานทางวิชาการและสามารถนำไปใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
“เมื่อปี 2527 คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ได้ดำเนินการจัดทำพจนานุกรมภาษามลายูถิ่นปัตตานี-ไทยขึ้นมาเล่มหนึ่ง แต่ก็ยังไม่สมบูรณ์และไม่ถูกต้องตามมาตรฐานของพจนานุกรม ประกอบกับขณะนี้มีการเปลี่ยนแปลงทางความหมายของคำในภาษา มีการเพิ่ม และเลิกใช้คำบางคำ อีกทั้งความสำคัญของสังคมประเทศไทยต้องการเรียนรู้ภาษาและวัฒนธรรมความหลากหลายของคนในชาติ อันเป็นส่วนสำคัญต่อการสร้างความมั่นคงและความสันติสุขในประเทศขึ้นมา” ผศ.ดร.วรวิทย์บอกเล่าความเป็นมา
ด้วยเหตุนี้ คณะผู้วิจัยจึงเห็นความสำคัญในการค้นคว้า รวบรวมละตรวจสอบคำศัพท์ เพื่อจัดทำพจนานุกรมภาษามลายูถิ่นปัตตานี-ภาษาไทยที่ทันสมัยและเป็นประโยชน์แก่นักศึกษาและผู้สนใจทั่วไป โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สำหรับข้าราชการที่ต้องการสื่อสารกับประชาชนในท้องถิ่นจังหวัดชายแดนภาคใต้
วัตถุประสงค์ของโครงการเพื่อรวบรวมคำศัพท์มลายูถิ่นในจังหวัดชายแดนภาคใต้ คือปัตตานี ยะลาและนราธิวาส อีกทั้งเพื่อกำหนดสัทอักษร ลักษณะคำ ความหมาย และตัวอย่างการใช้คำที่สามารถนำไปใช้ได้ในสถานการณ์จริง และเพื่อบันทึกคำอ่านด้วยระบบสัทอักษรที่เข้าใจง่าย โดยพจนานุกรมฉบับนี้มีการเรียงลำดับคำให้เป็นมาตรฐานตามแบบพจนานุกรม และพจนานุกรมดังกล่าวคือส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์การแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วยแนวทางสันติวิธี
:แหล่งที่มา http://www.isranews.org/cms/index.php?option=com_content&task=view&id=1151&Itemid=47

วันจันทร์ที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

ข่าวสารประจำสัปดาห์ที่1

ก่อการร้ายคำใหม่ใส่พจนานุกรม

ข่าวทั่วไป หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ -- พุธที่ 26 พฤษภาคม 2553 00:00:00 น.

กรุงเทพฯ 0 ราชบัณฑิตเตรียมบรรจุศัพท์ใหม่ "สุ่มเสี่ยง" ไว้ในพจนานุกรม หลังรัฐบาลนำมาใช้ในเหตุจลาจล เช่นเดียวกับคำว่า "ก่อการร้าย" ที่ยังไม่ได้บัญญัติไว้เช่นกัน ส่วน "ขอคืนพื้นที่" กับ "กระชับพื้นที่" ต้องพิจารณาอีกครั้งว่าจะใส่ไว้หรือไม่

ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.กาญจนา นาคสกุล ราชบัณฑิต และนายกสมาคมครูภาษาไทยแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า คณะกรรมการจัดทำพจนานุกรมคำศัพท์ใหม่ ราชบัณฑิตยสถาน ได้ติดตามเหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมืองในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และจังหวัดต่างๆ เพื่อจัดเก็บข้อมูลคำศัพท์ใหม่ และคำศัพท์ที่มีการใช้ในช่วงเวลาดังกล่าว ซึ่งมีทั้งคำใหม่และเป็นการนำคำมาผสมกัน อาทิ สุ่มเสี่ยง เป็นคำใหม่ที่ยังไม่ได้บัญญัติในพจนานุกรม โดยรัฐบาลได้นำมาใช้ช่วงเหตุการณ์ดังกล่าว ซึ่งความหมายคือการระบุถึงพื้นที่ที่เห็นว่ามีอันตราย แต่ไม่สามารถระบุได้ชัดเจน
ที่มา
http://www.ryt9.com/s/tpd/907036