วันจันทร์ที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

ข่าวสารประจำสัปดาห์ที่ 2

มอ.ปัตตานีทำพจนานุกรมมลายูท้องถิ่น-ไทย สนองยุทธศาสตร์แก้ไฟใต้

โครงการจัดตั้งสถาบันสมุทรรัฐเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มอ.ปัตตานี ระดมนักภาษาศาสตร์ จัดทำพจนานุกรมภาษามลายูท้องถิ่น-ไทย เสริมสร้างความเข้าใจ เรียนรู้ความหลากหลายทางวัฒนธรรม สนองยุทธศาสตร์แก้ปัญหาความไม่สงบชายแดนใต้ ด้วยแนวทางสันติวิธี
ผศ.ดร.วรวิทย์ บารู ผู้อำนวยการ โครงการจัดตั้งสถาบันสมุทรรัฐเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี(มอ.ปัตตานี)เปิดเผยว่า ขณะนี้คณะนักวิจัยจากโครงการจัดตั้งสถาบันสมุทรรัฐเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา ได้ร่วมกันจัดทำโครงการพจนานุกรมภาษามลายูถิ่นปัตตานี-ไทย ซึ่งได้รับงบประมาณสนับสนุนจากมูลนิธิเอเชีย ทั้งนี้พจนานุกรมดังกล่าว ถือเป็นส่วนหนึ่งในยุทธศาสตร์การแก้ปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ในส่วนของความหลากหลายทางวัฒนธรรม โดยจะแล้วเสร็จปลายเดือนสิงหาคมนี้
“ภาษาเป็นเครื่องมือที่มนุษย์ใช้ในการติดต่อสื่อสาร และเปลี่ยนความรู้ ความคิดและทัศนะต่อกัน ตลอดจนสืบทอดวัฒนธรรม ทำให้มนุษย์สามารถสื่อสารเข้าใจตรงกัน” ผศ.ดร.วรวิทย์ กล่าว
ผู้อำนวยการโครงการจัดตั้งสถาบันสมุทรรัฐฯ มอ.ปัตตานีกล่าวต่อไปอีกว่า จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเฉพาะในจังหวัดปัตตานี ยะลา และนราธิวาส ประชาชนส่วนใหญ่พูดภาษามลายูถิ่น หรือเรียกว่า “มลายูถิ่นปัตตานี” ซึ่งมีลักษณะแตกต่างจากภาษามลายูมาตรฐานที่ใช้กันอยู่ในประเทศมาเลเซีย ภาษามลายูถิ่นเป็นกลุ่มภาษาที่มีศัพท์ สำเนียง และคำยืมมาจากหลายภาษา นอกจากนี้ภาษามลายูถิ่นยังสะท้อนให้เห็นถึงวัฒนธรรม ความเป็นอยู่และวิถีชีวิตของชาวไทยมุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของประเทศไทย ซึ่งมีความเป็นเอกลักษณ์ ทั้งนี้เคยมีนักวิชาการท้องถิ่นและผู้สนใจในภาษามลายูถิ่นทั้งชาวไทยมุสลิมในท้องถิ่นและชาวต่างประเทศได้พยายามจัดทำพจนานุกรม แต่มักจะอยู่ในลักษณะของประมวลคำศัพท์ภาษามลายูถิ่นปัตตานีมากกว่าจะเป็นพจนานุกรมที่มีมาตรฐานทางวิชาการและสามารถนำไปใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
“เมื่อปี 2527 คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ได้ดำเนินการจัดทำพจนานุกรมภาษามลายูถิ่นปัตตานี-ไทยขึ้นมาเล่มหนึ่ง แต่ก็ยังไม่สมบูรณ์และไม่ถูกต้องตามมาตรฐานของพจนานุกรม ประกอบกับขณะนี้มีการเปลี่ยนแปลงทางความหมายของคำในภาษา มีการเพิ่ม และเลิกใช้คำบางคำ อีกทั้งความสำคัญของสังคมประเทศไทยต้องการเรียนรู้ภาษาและวัฒนธรรมความหลากหลายของคนในชาติ อันเป็นส่วนสำคัญต่อการสร้างความมั่นคงและความสันติสุขในประเทศขึ้นมา” ผศ.ดร.วรวิทย์บอกเล่าความเป็นมา
ด้วยเหตุนี้ คณะผู้วิจัยจึงเห็นความสำคัญในการค้นคว้า รวบรวมละตรวจสอบคำศัพท์ เพื่อจัดทำพจนานุกรมภาษามลายูถิ่นปัตตานี-ภาษาไทยที่ทันสมัยและเป็นประโยชน์แก่นักศึกษาและผู้สนใจทั่วไป โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สำหรับข้าราชการที่ต้องการสื่อสารกับประชาชนในท้องถิ่นจังหวัดชายแดนภาคใต้
วัตถุประสงค์ของโครงการเพื่อรวบรวมคำศัพท์มลายูถิ่นในจังหวัดชายแดนภาคใต้ คือปัตตานี ยะลาและนราธิวาส อีกทั้งเพื่อกำหนดสัทอักษร ลักษณะคำ ความหมาย และตัวอย่างการใช้คำที่สามารถนำไปใช้ได้ในสถานการณ์จริง และเพื่อบันทึกคำอ่านด้วยระบบสัทอักษรที่เข้าใจง่าย โดยพจนานุกรมฉบับนี้มีการเรียงลำดับคำให้เป็นมาตรฐานตามแบบพจนานุกรม และพจนานุกรมดังกล่าวคือส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์การแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วยแนวทางสันติวิธี
:แหล่งที่มา http://www.isranews.org/cms/index.php?option=com_content&task=view&id=1151&Itemid=47

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น